วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ความเป็นมาของการวัด


   
   ในสมัยโบราณบรรพบุรุษของเรายังไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการวัดระยะทาง เวลา พื้นที่ และปริมาตร จนบางครั้งเกิดปัญหาการสื่อความหมายไม่ตรงกัน เมื่อมีการติดต่อไปมาระหว่างชุมชน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้ต้องมีหน่วยการวัดและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดที่ชัดเจนเพื่อสื่อความหมายได้ตรงกันมากขึ้น

สำหรับการวัดความยาวมีวิวัฒนาการเป็นลำดับคร่าวๆ โดยในระยะแรกๆ มีการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเกณฑ์อ้างอิง เช่น 1 นิ้ว, 1 คืบ, 1 ศอก, 1 วา แต่ก็ยังไม่สามารถบอกความชัดเจนได้อยู่ดี เพราะ คืบ, ศอก, วา ของแต่ละคนที่ใช้ในการวัดยาวไม่เท่ากัน

ต่อมาจึงได้พัฒนาหน่วยการวัดให้เป็นมาตรฐานสากล ที่นิยมใช้กัน คือ ระบบอังกฤษ จะมีหน่วยวัดความยาวเป็น นิ้ว, ฟุต, หลา และ ไมล์ เป็นต้น

ระบบเมตริก ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2336 กำหนดหน่วยความยาวเป็น เซนติเมตร, เมตร และ กิโลเมตร เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2466 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดโดยใช้หน่วยการวัดของระบบเมตริก โดยพระราชบัญญัติได้กำหนดไว้เฉพาะหน่วยการวัดความยาว พื้นที่ ปริมาตร และมวล มุ่งประสงค์สำหรับไว้ใช้โดยเฉพาะในการซื้อขาย เช่น

 2 ศอก เท่ากับ 1 วา
1 ไร่ เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร
1 บาท เท่ากับ 15 กรัม
เมื่อปี พ.ศ.2503 องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization หรือชื่อย่อ ISO) ได้กำหนดให้มีระบบการวัดใหม่ขึ้น เพื่อใช้ในการวัดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก เรียกว่า ระบบระหว่างประเทศ (System International d’ Unites) หรือเรียกว่า SI นั่นเอง

เครื่องมือวัด จะแสดงผลการวัด 2 แบบ คือ

 การแสดงผลด้วยขีดสเกล เป็นการแสดงผลที่ใช้กันมานานแล้วจนถึงปัจจุบัน เช่น สเกลไม้บรรทัด สเกลของตาชั่ง สเกลบนกระบอกตวง สเกลบนหน้าปัดนาฬิกาแบบเป็นเข็ม สเกลเครื่องวัดทางไฟฟ้าแบบเข็ม เป็นต้น ผู้วัดจะต้องมีความชำนาญจึงจะอ่านค่าได้รวดเร็วและถูกต้อง (เครื่องมือวัดแบบแสดงผลด้วยขีดสเกล เช่น โวลต์มิเตอร์ แอมป์มิเตอร์)


การแสดงผลด้วยตัวเลข เนื่องจากเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องมือวัดหลายชนิดแสดงผลเป็นตัวเลข เพื่อความสะดวกรวดเร็วและราคาก็ไม่แพงมากนักจึงได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องชั่ง เทอร์มอมิเตอร์ เป็นต้น
การอ่านผลจากเครื่องมือวัด

การอ่านผลจากเครื่องมือวัดทั้งแบบขีดสเกลและแบบตัวเลข ค่าที่อ่านได้จะเป็นตัวเลข แล้วตามด้วยหน่วยของการวัด เช่น ปากยาว 18.25 เซนติเมตร  เป็นต้น

การอ่านค่าจากเครื่องวัดให้ถูกมีวิธีการดังนี้

 การอ่านค่าจากเครื่องมือวัดแบบแสดงผลด้วยขีดสเกล ต้องทราบความละเอียดของเครื่องมือวัดนั้นๆ ก่อนว่า สามารถอ่านได้ละเอียดที่สุดเท่าไร เช่น ไม้บรรทัดที่มีช่องสเกลเล็กที่สุดเท่ากับ 1 มิลลิเมตร หรือ 0.1 เซนติเมตร เราก็สามารถอ่านได้ละเอียดที่สุดเพียงทศนิยมตำแหน่งเดียวของเซนติเมตรเท่านั้น และเราต้องประมาณค่าตัวเลขหลังทศนิยมตำแหน่งที่สองเพื่อให้ได้ผลการวัดใกล้เคียงความจริงที่สุด และทุกครั้งที่อ่านค่าจากเครื่องวัดแบบสเกล ไม่ว่าชนิดใดก็ตามต้องให้ระดับสายตาที่มองตั้งฉากกับเครื่องวัดทุกครั้ง เพื่อจะได้ผลการวัดใกล้เคียงความจริงที่สุด

 การอ่านค่าจากเครื่องวัดแบบแสดงผลด้วยตัวเลข สามารถอ่านได้โดยตรงตามตัวเลขบนจอภาพ เช่น เวลา 09.30 นาฬิกา เนื้อหมูหนัก 10.45 กิโลกรัม เป็นต้น ไม่ต้องบอกค่าประมาณ สำหรับค่าความไม่แน่นอน หรือความคลาดเคลื่อนของผลการวัดนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องระบุ ให้ดูจากคู่มือการใช้งานของเครื่องมือวัดนั้นๆ ประกอบด้วยเสมอ
การเลือกใช้เครื่องมือวัด

เนื่องจากเครื่องมือวัดแต่ละประเภทมีความละเอียดแตกต่างกัน การที่จะเลือกเครื่องมือวัดแบบใดหรือประเภทใด ก็ต้องดูตามความเหมาะสมกับงานนั้นๆ เช่นการวัดความยาวทั่วๆ ไป ควรใช้ตลับเมตรหรือไม้เมตร ซึ่งมีความละเอียดถึง 1 มิลลิเมตร ก็พอเพียงแล้ว แต่สำหรับงานกลึง หรืองานเจียระไนโลหะ เครื่องมือวัดที่ต้องใช้ต้องมีความละเอียดถึงระดับ 0.1 มิลลิเมตร หรือ 0.01 มิลลิเมตร สำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นไม้บรรทัดจึงใช้วัดไม่ได้ ต้องใช้ เวอร์เนียร์ หรือ ไมโครมิเตอร์
ภาพ ตัวอย่าง  เวอร์เนียแบบดิจิตอล DIGITAL CALIPERS 101-2601